ไม่ว่าใครในโลกนี้ก็อยากจะเป็นคนเข้มแข็งทั้งนั้น เพราะความเข้มแข็งเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่จะทำให้เราจัดการปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ คนที่ประสบความสำเร็จในโลกส่วนมากก็จะมีคุณสมบัตินี้ประกอบอยู่ด้วยทั้งนั้น และถ้าวันนี้ฉันอยากเป็นคนที่เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม จะต้องทำยังไงล่ะ? วันนี้เราเลยจะมาบอกเล่า 8 สิ่ง ที่ทำแล้วคุณจะเป็นคนที่เข้มแข็งขึ้น สามารถจะจัดการกับอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามา และผ่านไปได้อย่างผู้ชนะ ไปเริ่มกันเลย!!
1. ไม่เสียเวลามาสงสารตัวเอง
คุณเป็นคนแบบนี้หรือไม่?
มักคิดว่าปัญหาของตัวเองแย่กว่าปัญหาคนอื่น
คิดว่าที่เจอปัญหาเหล่านี้เพราะตัวเองเป็นคนโชคร้าย
ค่อนข้างมั่นใจว่าไม่มีใครเข้าใจจริงๆ ว่าชีวิตของคุณยากลำบากแค่ไหน
คิดว่าคนอื่นโชคดีที่มีชีวิตแบบง่ายๆ
รู้สึกว่าโลกพยายามทำร้ายคุณ
เชื่อไหมว่าความคิดพวกนี้มันสามารถกลืนกินคุณได้ จนคุณไม่รู้ตัวว่ามีทัศนคติที่แย่กับชีวิตตัวเองขนาดไหน และความคิดเหล่านี้แหละที่จะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต การคิดเรื่องแย่ๆ ซ้ำไปซ้ำมา จะส่งผลให้ชีวิตคุณแย่ไปตามสิ่งที่คุณคิด หลังจากนั้นก็จะมีแต่อารมณ์ทางลบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คุณรับมือกับอารมณ์ตัวเองยากขึ้น นานวันเข้าชีวิตลบๆ แบบนี้จะทำให้คุณมองไม่เห็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว และเรื่องแย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับคนที่มีแต่พลังลบก็คือ คนรอบตัวจะถอยห่าง สุดท้ายมันก็จะวนลูปอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งมีแต่จะส่งผลเสียมากขึ้นๆ ทุกที
ทางแก้ที่ควรทำ
- เวลาที่เริ่มรู้สึกแย่ ให้พยายามทำสิ่งที่ตรงข้ามกับความรู้สึก เช่น ลองทำสิ่งดีๆ ให้คนอื่น อะไรก็ได้เล็กๆ น้อยๆ เพราะการที่เราทำให้คนอื่นรู้สึกดีจะช่วยสร้างความหมายให้ชีวิต
- ลองจดสิ่งที่รู้สึกขอบคุณ แม้ว่ามันจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม เช่น ขอบคุณที่พยายามปลุกตัวเองให้ตื่นเช้าได้ หรือจะลองไปถามคนรอบตัวก็ได้ว่าเขารู้สึกขอบคุณอะไรบ้าง บางทีสิ่งที่คนอื่นรู้สึกขอบคุณ อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิตเราแล้วก็ได้
- ลองมองตัวเองเป็นคนนอกปัญหา แล้วถามตัวเองว่า “ถ้าคนที่ฉันรักเจอเหตุการณ์แบบนี้ ฉันจะแนะนำเขายังไง” การเอาตัวเองมาอยู่นอกปัญหา จะทำให้คุณมองภาพต่างๆ กว้างขึ้น
2. ไม่กล้าเผชิญความเปลี่ยนแปลง
พอพูดถึงความเปลี่ยนแปลง หลายคนก็จะมองว่ามันเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและอาจจะไม่อยากทำ ถึงแม้ว่ามันจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นก็ตาม ลองดูว่าข้อใดต่อไปนี้ ตรงกับตัวคุณบ้าง
มีแนวโน้มว่าจะหาเหตุผลให้กับนิสัยที่ไม่ดีของตัวเอง
เวลาที่การเปลี่ยนแปลงกระทบกับตัวคุณ คุณจะรับมือได้ยาก
หากมีกิจวัตรที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป จะรู้สึกกังวล
มีความรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลง แต่ก็ปัดไปตลอด จนเวลาล่วงเลยไป
การออกจาก comfort zone ดูน่ากลัวเกินไป
ลังเลที่จะทำอะไรใหม่ๆ
พยายามหาเหตุผลว่าทำไมถึงเปลี่ยนไม่ได้
หากคุณมีลักษณะที่ตรงกับหลายๆ ข้อด้านบน มีแนวโน้มว่าคุณเป็นคนที่ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางทีมันอาจจะรับมือได้ยากจริงๆ หรือทำให้คุณต้องปรับตัวเองอย่างมาก แต่ไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะในเมื่อคนอื่นรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ คุณก็จะทำได้เหมือนกัน เพียงแต่อาจจะต้องปรับไปทีละเล็กละน้อย และใช้วินัยค่อนข้างสูง
เทคนิครับมือกับความเปลี่ยนแปลง
- ลองระบุข้อดีของการเปลี่ยนแปลง มันจะทำให้คุณมีความคิดเชิงบวกกับการเปลี่ยนแปลงนั้นมากขึ้น
- ต้องจัดการกับความคิดแง่ลบก่อน เช่น ไม่มีทางสำเร็จ ที่เป็นอยู่นี้ก็ดีอยู่แล้ว เครียดเกินไป ยากเกินไป ฯลฯ ความคิดเหล่านี้จะเป็นตัวฉุดรั้งความสำเร็จของคุณ ให้คิดไว้เสมอว่า การได้มาซึ่งความเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งที่ดี มันต้องมีอุปสรรคมาขวางอยู่แล้ว ดังนั้นพุ่งชนมันซะ!
- สร้างแผนเอาไว้ว่าอยากทำอะไรให้สำเร็จในระยะเวลาเท่าไหร่/ คาดการณ์เอาไว้ว่าจะต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง จะได้รับมือได้/ สังเกตและบันทึกพัฒนาการ และสิ่งสำคัญสุดท้ายคือ ต้องมีวินัยและความรับผิดชอบ
- ทำตัวให้เหมือนกับคนที่คุณอยากเป็น เช่น อยากเป็นคนเข้าสังคมเก่ง ก็ต้องเป็นมิตรให้มากขึ้น อยากขายเก่ง ก็ต้องดูว่าคนที่ประสบความสำเร็จเรื่องการขายเขาทำยังไง เป็นต้น
3. ไม่สนใจสิ่งที่ควบคุมไม่ได้
เวลาที่เราต้องการจะควบคุมอะไรบางอย่าง มันหมายถึงว่าถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นไปตามที่เราควบคุม เราก็จะผิดหวัง เสียใจ โกรธ วิตกกังวล ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากจะให้เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว แต่การที่เราจะควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปตามที่เราต้องการ มันทำได้จริงหรือ?
เวลาที่เราพยายามควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง มันจะมีปัญหาตามมาอย่างมากมาย อย่างแรกคือมันจะทำให้เราวิตกกังวล ยิ่งพยายามควบคุมเท่าไหร่ ยิ่งกังวลมากเท่านั้น เพราะคุณอยากจะให้มันเป็นดั่งใจไปหมดทุกอย่าง
สอง การทุ่มเทเวลาและพลังไปกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ มันจะทำให้คุณเสียพลังที่จะไปควบคุมสิ่งที่ควบคุมได้ในการทำงานขั้นตอนต่อๆ ไป
สาม การที่คุณเป็นจอมบงการ อยากจะควบคุมทุกอย่างไปซะหมด มันเป็นการทำลายความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน (หรือคนอื่นๆ ในบริบทอื่น) เพราะไม่มีใครอยากโดนควบคุมหรือโดนกดดัน อีกอย่างมันเป็นการบอกทางอ้อมว่าคุณไม่เชื่อใจพวกเขา
ทางแก้ที่ควรทำ
- ใส่ใจแค่ในสิ่งที่คุณควบคุมได้ ดูว่าเหตุการณ์นั้นๆ ตัวคุณเองทำอะไรให้มันดีขึ้นได้บ้าง และทำแค่สิ่งนั้นก็พอ
- บอกกล่าวความวิตกกังวลที่คุณมี ให้คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นฟัง แต่ต้องบอกแค่ครั้งเดียวเท่านั้น เพราะการพูดถึงความกังวลซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ได้ทำให้คำพูดของคุณได้ผลดีมากขึ้น
- ฝึกที่จะยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะการที่คุณอยากจะควบคุมทุกอย่างให้เป็นดั่งใจ แสดงว่าคุณมีแนวโน้มที่จะรู้สึกแย่ หรือรู้สึกผิด หากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นอย่างใจคิด ดังนั้นการฝึกยอมรับและรับมือกับความไม่ได้ดั่งใจนี้ จะทำให้คุณอยากจะควบคุมทุกอย่างน้อยลง
4. ไม่สนว่าต้องทำให้ทุกคนพอใจ
การที่เราอยากจะทำให้คนอื่นพอใจ เหตุผลหลักๆ คือ เราไม่ชอบที่จะอยู่ในความขัดแย้ง เพราะการอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีแต่ความขัดแย้ง มันดูดพลังเราไปมหาศาล และอีกเหตุผลหนึ่งคือ เราอยากจะดูเป็นคนที่ดีในสายตาของคนอื่น ซึ่งการที่เราเป็นคนชอบเอาใจผู้อื่น ไม่ใช่ว่ามันไม่ดี หรือเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่บางครั้งการที่เราเอาใจคนอื่นมากเกินไปจนลืมนึกถึงความรู้สึกของตัวเอง จะสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ เช่น เวลาคุณพยายามทำให้คนอื่นพอใจ แต่เขาไม่เห็นคุณค่าในความพยายามเหล่านั้น นานวันเข้าคุณจะรู้สึกว่า “ฉันทำอะไรให้เธอตั้งเยอะ แต่เธอไม่เห็นจะพยายามทำอะไรเพื่อฉันบ้างเลย” ซึ่งความคิดแบบนี้นี่เอง ที่จะเป็นตัวทำลายความสัมพันธ์ หรือที่แย่กว่านั้นก็คือ คุณอาจจะกลายเป็นคนที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะมัวแต่หมกมุ่นกับการทำให้คนอื่นมีความสุข
ทางแก้ที่ควรทำ
- กำหนดว่าใครคือคนที่คุณอยากเอาใจ เพราะคุณไม่จำเป็นต้องเอาใจทุกคน และการเอาใจนี้ก็ไม่จำเป็นต้องทำตลอดเวลา
- ให้คิดเอาไว้ว่า บางทีการเอาใจคนอื่นก็เสียเวลา เพราะคุณจะใช้เวลาไปกับสิ่งที่จะทำให้คนอื่นพอใจ มากกว่าสิ่งที่สำคัญจริงๆ
- ถ้าคนอื่นจะรู้สึกโกรธหรือผิดหวังบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะความรู้สึกเหล่านั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องจัดการด้วยตัวเอง ไม่ใช่คุณ
- ปฏิเสธให้เป็น หรือก่อนจะตอบรับอะไรก็ใช้เวลาในการพิจารณานิดหนึ่ง เช่น ฉันอยากทำสิ่งนี้ไหม เหตุผลอะไรที่ฉันต้องเสียสละทำสิ่งนี้ ฉันได้อะไรจากการทำสิ่งนี้ ถ้าทำสิ่งนี้แล้วฉันจะรู้สึกอย่างไร เป็นต้น แต่การปฏิเสธก็ควรทำอย่างอ่อนน้อมนุ่มนวลด้วยนะ ไม่อย่างนั้นคุณจะกลายเป็นคนที่ดูไม่มีน้ำใจ
- จำเอาไว้ว่าคุณไม่สามารถทำให้ทุกคนบนโลกพอใจในตัวคุณได้
5. ไม่ยึดติดอยู่กับอดีต
หลายครั้งที่เรายึดติดอยู่กับอดีต เพราะอดีตทำให้เรารู้สึกผิด ละอายใจ โกรธแค้น หรือกระทบชีวิตและความรู้สึกมากๆ ความรู้สึกเหล่านี้แหละทำให้เราใช้ชีวิตไปข้างหน้าได้ยากลำบาก มันจะคอยดึงความสนใจให้เรานึกถึงเรื่องในอดีตตลอดเวลา ซึ่งการยึดติดกับอดีตนี้ นอกจากจะเป็นการตอกย้ำอารมณ์ด้านลบให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอีกมากมายดังนี้
- ไม่มีเวลาเตรียมตัวสำหรับโอกาสที่ดีในอนาคต เพราะเอาแต่หมกมุ่นกับเรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้ว
- การใช้ชีวิตอยู่กับอดีตมากๆ อาจส่งผลให้คุณตัดสินใจเรื่องราวในปัจจุบันได้ไม่ดีพอ หรือไม่เหมาะสม
- อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า
- เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคสมองเสื่อมมากขึ้น
การลบเลือนเรื่องราวในอดีตที่กระทบชีวิตและความรู้สึกมากๆ อาจทำได้ไม่ง่ายดายนัก แต่ถ้าหากอยากก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีที่คุณมองอดีตให้ได้ ซึ่งมีวิธีดังนี้
- ถ้าเลิกคิดไม่ได้จริงๆ ให้กำหนดเวลาในการคิดถึงมัน เช่น ฉันจะคิดถึงเรื่องนั้นได้แค่ตอนหลังอาหารเย็น และมีเวลาในการคิดถึงแค่ 15 นาที เป็นต้น
- คิดเรื่องอื่นให้มากกว่า เพราะการจะลบความทรงจำเก่าๆ เราจะต้องเพิ่มความทรงจำใหม่ๆ เข้าไปแทนที่มัน
- ตั้งเป้าหมายอนาคต การทำแบบนี้จะทำให้คุณโฟกัสกับปัจจุบันมากขึ้น ว่าทำอย่างไรฉันถึงจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
- ให้ความสำคัญกับอดีตในแง่ของบทเรียนชีวิต มีอะไรบ้างที่ต้องปรับหรือแก้ไขหากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก หรือถ้ามันเกิดขึ้นอีกครั้ง ควรจะต้องรับมืออย่างไร เป็นต้น
- ไม่ต้องรู้สึกผิดถ้าจะลืมอดีตและก้าวไปข้างหน้า Life must go on
- ฝึกให้อภัย
6. ไม่ทำพลาดแบบเดิมซ้ำๆ
เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะทำผิดพลาด แต่การผิดพลาดแบบเดิมซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง อาจจะกลายมาเป็นนิสัยได้ เช่น การลืมล้างจานบ่อยๆ หรือการมาสายบ่อยๆ บางทีการทำผิดพลาดจนเป็นนิสัย ทำให้คุณรู้สึกว่าการทำผิดพลาดนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ และการต่อว่าของคนอื่นคือการจับผิดหรือต่อว่าเพราะไม่ชอบคุณ แต่จริงๆ แล้วปัญหาของการทำผิดแบบเดิมซ้ำๆ ไม่ได้อยู่ที่จะมีคนต่อว่าหรือไม่ เกลียดคุณหรือไม่ แต่มันคือการที่ปัญหาเหล่านั้นจะไม่ได้รับการแก้ไข เพราะคุณไม่ได้ให้ความสำคัญและมองว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ จึงไม่พยายามที่จะแก้ไขมัน ซึ่งอาจส่งผลให้คนอื่นหมดความอดทนกับความผิดพลาดนี้ และไม่อยากใช้ชีวิตกับคุณอีกต่อไป
วิธีแก้ไม่ให้ทำพลาดแบบเดิมซ้ำๆ
- ศึกษาความผิดพลาดนั้น และหาให้เจอว่าต้องแก้ไขตรงไหนเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก
- ทำพฤติกรรมแบบใหม่ที่ดีกว่าซ้ำๆ ให้มันแทนที่พฤติกรรมแบบเดิม
- มองหาสัญญาณที่ทำให้คุณรู้ตัวว่ากำลังจะทำเรื่องผิดพลาดแล้วนะ
- ฝึกฝนวินัยให้ตัวเอง เพราะการจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก
7. รู้สึกขุ่นเคืองเวลาเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จ
จริงๆ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบเปรียบเทียบอยู่แล้ว เรามักจะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นตลอดเวลา คนนั้นรวยกว่า คนนั้นฉลาดกว่า คนนั้นตำแหน่งดีกว่า คนนั้นเงินเดือนมากกว่า ฯลฯ การเปรียบเทียบไม่ใช่สิ่งที่ผิด และการอิจฉาในความสำเร็จของคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดเช่นเดียวกัน แต่ถ้าความอิจฉานั้นเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธ ขุ่นข้องหมองใจ หรือรู้สึกแย่กับตัวเอง การเปรียบเทียบหรือความอิจฉานั้นก็อาจจะเป็นสิ่งที่ผิดก็ได้ เพราะมันจะทำให้คุณเริ่มไม่พอใจในสิ่งที่คุณมี มองข้ามความสามารถของตัวเอง หรือเลวร้ายที่สุดถ้าคนที่ประสบความสำเร็จเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือคนรักของคุณ ความอิจฉาอาจจะทำลายความสัมพันธ์ไปเลยก็ได้
ทางแก้ที่ควรทำ
- เปลี่ยนจากการเปรียบเทียบกับผู้อื่น เป็นเปรียบเทียบกับตัวเองในอดีต มันจะทำให้คุณเห็นความก้าวหน้าของตัวเอง หรือพยายามพัฒนาตัวเองให้ดีกว่าเดิม
- อย่าไปโฟกัสว่าจุดอ่อนของตัวเองส่งผลเสียยังไงบ้าง ให้พยายามปรับปรุงมัน และฝึกฝนจุดแข็งตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
- เลิกมองว่าจุดแข็งของคนอื่นคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เพราะจุดแข็งของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน และคนทุกคนก็ต้องมีจุดอ่อนด้วยกันทั้งนั้น
- ค้นหาว่าเป้าหมายความสำเร็จของตัวเองคืออะไร ดีกว่าไปไล่ตามความสำเร็จของคนอื่น เพราะคนเรามีเป้าหมายในชีวิตไม่เหมือนกัน
- ต้องเข้าใจว่าคนที่ประสบความสำเร็จเขาต้องทุ่มเทแรงกาย แรงใจ มีความอดทน มีวินัย และเสียเวลาไปกับมันอย่างมหาศาล กว่าจะได้ความสำเร็จนั้นมา ดังนั้นควรจะยินดีกับเขา และเอาวิธีการเหล่านั้นมาปรับใช้กับตัวเอง อย่างที่กล่าวไปในหัวข้อที่ 2 ว่า “อยากเป็นคนแบบไหน ก็ให้ทำตัวเหมือนคนแบบนั้น”
8. ไม่ยอมแพ้หลังจากความล้มเหลวครั้งแรก
หากได้ลองอ่านชีวประวัติของคนที่ประสบความสำเร็จในโลก ไม่ว่าจะเป็น สตีฟ จ็อบส์ เจ.เค.โรวลิง พี่น้องตระกูลไรท์ ฯลฯ พวกเขาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ผ่านความล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วน แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาต่างจากคนทั่วไปคือ เรียนรู้ความล้มเหลว และเปลี่ยนมันเป็นพลังในการก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิม ลองคิดกลับกันว่าหากคนที่ประสบความสำเร็จทุกวันนี้ ล้มเหลวแล้วยอมแพ้จะเกิดอะไรขึ้น? เราคงไม่มีสมาร์ทโฟนอย่างไอโฟนให้ใช้ ไม่มีภาพยนตร์เรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่โด่งดังไปทั่วโลก หรือไม่มีเครื่องบินให้เดินทางได้อย่างสะดวกสบาย ดังนั้นจงอย่าปล่อยให้ความล้มเหลวมาฉุดรั้งความตั้งใจของคุณเด็ดขาด เชื่อไว้เสมอว่า ยิ่งคุณล้มเหลวมากเท่าไหร่ คุณยิ่งเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น
วิธีการที่จะทำให้คุณเป็นคนไม่ยอมแพ้
- ฝึกฝนอย่างตั้งใจและมุ่งมั่น คนประสบความสำเร็จบนโลกหลายคนไม่ได้เป็นคนที่มีพรสวรรค์หรือความสามารถติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่พวกเขาประสบความสำเร็จได้เพราะทุ่มเทให้กับมัน
- ความอดทนเป็นสิ่งสำคัญ กว่าจะประสบความสำเร็จได้ อาจจะต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายครั้ง ถ้าความอดทนไม่มากพอ ก็อาจจะไม่มีวันไปถึงเป้าหมายเลยก็ได้
- เมื่อล้มเหลว อย่าโทษว่าเป็นเพราะตัวเองไม่เก่ง แต่อาจเพราะยังพยายามได้ไม่มากพอ
- ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ต้องเจอ ยิ่งเจอมันบ่อยเท่าไหร่ คุณจะเคยชินและรับมือกับมันได้ดีขึ้นเท่านั้น สุดท้ายคุณก็จะรู้ว่าความล้มเหลวไม่ใช่สิ่งเลวร้ายอะไร
- ล้มแล้วต้องรีบลุกให้ไว จดบันทึกและวิเคราะห์ว่าอะไรทำให้เกิดความล้มเหลว เพื่อที่จะได้วางแผนใหม่และเดินหน้าต่อไปอย่างระมัดระวัง
ถึง 8 สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ บางเรื่องก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละนิด ทัศนคติด้านบวกเหล่านี้ก็จะกลายมาเป็นนิสัย และคนที่มีนิสัยและความเข้มแข็งแบบนี้ ต่อให้ต้องเจอปัญหาอะไร ก็จะสามารถก้าวข้ามไปได้อย่างแน่นอน ขอให้ทุกคนเป็นคนเข้มแข็งได้อย่างที่ต้องการ เป็นกำลังใจให้นะ
เขียน : Maytiz
อ้างอิง : หนังสือ 13 สิ่งที่คนเข้มแข็งเขาไม่ทำกัน เขียนโดย เอมี โมริน