นับว่าเป็นโรคยอดฮิตของพนักงานออฟฟิศ หรือกลุ่มคนที่นั่งทำงานติดเก้าอี้นานหลายชั่วโมง โดยที่ไม่ลุกขยับร่างกายไปไหน จะทำให้เกิดอาการปวดตามกล้ามเนื้อและพังผืด รวมถึงอาการปวดหรือชาจากการอักเสบของเนื้อเยื่อและเอ็น
ในยุคสมัยนี้ดูจะเป็นโรคที่คนในยุคใหม่เป็นกันเยอะ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในที่ทำงาน ไม่ค่อยเดินลุกยืดเส้นยืดสายหรือเคลื่อนไหวร่างกาย นั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือก้มดูมือถือเป็นเวลานาน โดยสาเหตุหลักของโรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจาก 2 ปัจจัย ดังนี้
1.ปัจจัยทางสภาพแวดล้อม ใช้อุปกรณ์ในที่ทำงานไม่เหมาะสม โต๊ะหรือเก้าอี้มีความสูงหรือต่ำจนเกินไป
2.ปัจจัยทางสภาพร่างกาย ความเครียดจากการทำงาน พักผ่อนไม่เพียงพอ ได้รับสารอาหารไม่ครบหรือทานอาหารไม่ตรงเวลา เป็นต้น
ออฟฟิศซินโดรม มักเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆเป็นเวลานาน โดยไม่ค่อยเปลี่ยนท่าทาง รวมถึงอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ การนั่งตัวงอ หรือก้มหน้าเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานซ้ำๆมีการหดเกร็ง จนทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ และเกิดอาการปวดตามมาได้
หากปล่อยไว้นานโดยไม่ได้รับการรักษา หรือไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาจส่งผลให้เสียสุขภาพได้ในอนาคตโดยโรคออฟฟิศซินโดรม มีวิธีการรักษา ทั้งการรักษาด้วยยา การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อ ออกกำลังกายเพื่อรักษาอาการปวดหลัง หรือรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม เป็นการอาศัยกลไกในการยับยั้งความเจ็บปวด ช่วยให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทให้ออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลางที่ระดับไขสันหลัง เพื่อระงับอาการปวด ปรับสมดุลของอวัยวะต่างๆให้อยู่ในสภาพปกติ และยังมีการนวดแผนไทย ซึ่งเป็นวิธีแรกที่มนุษย์เรารู้จักตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นวิธีทางธรรมชาติที่เกิดจากการเรียนรู้ ปวดตรงไหนก็บีบนวดตรงนั้น ต่อมาจึงมีการสั่งสมประสบการณ์จนเป็นศาสตร์หนึ่งในการรักษา
แต่อย่างไรก็ตามวิธีที่เหมาะสมที่สุดคือการป้องกันการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม สามารถป้องกันได้ง่ายๆหลายวิธี ดังนี้
-ออกกำลังกายด้วยท่าที่เหมาะสมกับอาการ เช่น ยืดกล้ามเนื้อให้เกิดความยืดยุ่น ออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
-ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา ปรับระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ ให้สามารถนั่งทำงานในท่าที่สบาย
-ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานกล้ามเนื้อให้เหมาะสม เช่น ระหว่างการทำงานควรลุกขึ้นเดิน หรือยืดกล้ามเนื้อเพื่อผ่อนคลายอย่างน้อยทุกๆ 1ชั่วโมง
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์